ฉลากประหยัดไฟเบอร์5 คืออะไร

ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5

จากการขยายตัวของสังคม และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) จำเป็นต้องขยายแหล่งผลิตเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งนอกจากจะต้องจัดหาแหล่งผลิต และใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว การนำเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ยังต้องใช้เงินลงทุนสูง และมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

งานการจัดการด้วนการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management หรือ DSM) เป็นภารกิจที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ กฟผ. ดำเนินการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2534 และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2536 ภายใต้ชื่อ “โครงการประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า” (Together Conservation) และได้ดำเนินการโครงการ “ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5” มาโดยตลอด

ปัจจุบัน กฟผ. ยังคงดำเนินการต่อเนื่องกับโครงการ “ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5” โดยการประสานแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงาน โดยร่วมเป็นคณะทำงานด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานดูแลงานฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งมีมาตรฐานตรากระทรวงพลังงานกำกับอยู่ในรูปลักษณ์โฉมใหม่ ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5

 

วัตถุประสงค์

 

โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 มุ่งรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่า และมีประสิทธิภาพ ด้วยวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการ ดังนี้

1. เพื่อรณรงค์ให้ผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ผลิตและนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและมีราคาที่เหมาะสม

2. จูงใจและเสริมสร้างทัศนคติการประหยัดไฟฟ้าแก่ประชาชน โดยให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ

3. เสนอทางเลือกของผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูง

4. สนับสนุนและแสวงหาเทคโนโลยีการประหยัดไฟฟ้า รวมทั้งการบริหารการใช้ไฟฟ้าเพื่อนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและประเทศชาติโดยรวม 

 

การดำเนินงาน

 

เพื่อให้การดำเนินโครงการ  “ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5” บรรลุผลในการลดการใช้พลังงานโดยรวมของชาติ และลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจอย่างจริงจังจากทุกๆ ฝ่าย ดังนั้น กฟผ. จึงใช้แนวทางในการดำเนินโครงการจึงมุ่งที่จะใช้วิธีจูงใจ โดยการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่า แก่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกตามประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้า คือ กลุ่มภาคที่อยู่อาศัย กลุ่มภาคธุรกิจ และกลุ่มภาอุตสาหกรรม ด้วยการใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “3 อ.” คือ อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า อาคารประหยัดไฟฟ้า และอุปนิสัยประหยัดไฟฟ้า

 ติดตามอ่านความรู้เกี่ยวกับฉลากประหยัดไฟต่อในโอกาสต่อไปนะครับ

 

ข้อมูลจาก:สมาคมผู้ค้าเครื่องปรับอากาศไทย

–>